กลยุทธ์คืออะไร ใครเลือกนักเตะ!! บทความพิเศษ ตีแผ่เบื้องหลังการเสริมทัพของอาร์เซนอล

กลยุทธ์คืออะไร ใครเลือกนักเตะ!! บทความพิเศษ ตีแผ่เบื้องหลังการเสริมทัพของอาร์เซนอล

กลยุทธ์คืออะไร ใครเลือกนักเตะ!! บทความพิเศษ ตีแผ่เบื้องหลังการเสริมทัพของอาร์เซนอล

กลยุทธ์คืออะไร ใครเลือกนักเตะ!! บทความพิเศษ ตีแผ่เบื้องหลังการเสริมทัพของอาร์เซนอล

บท่ความจาก The Athletic ที่ตีแผ่เบื้องหลังการทำงานของ อาร์เซนอล ที่เกิดขึ้นในตลาดนักเตะซัมเมอร์นี้ พวกเขามีกลยุทธ์ในการสร้างทีมแบบไหน พวกเขามีกระบวนการในการคัดสรรนักเตะเข้ามาอย่างไร บทบาทหน้าที่ของ เอดู กาสปาร์, มิเกล อาร์เตต้า และริชาร์ด การ์ลิค

แผนกลยุทธ์

แนวทางใหม่ของอาร์เซน่อลมันชัดเจนมาก พวกเขาเซ็นสัญญานักเตะใหม่เข้ามา 6 คนในซัมเมอร์นี้ ทั้งหมดอายุไม่เกิน 23 ปี มันชัดเจนว่าวพวกเขากำลังพยายามที่จะถ่ายเลือด และสร้างทีมขึ้นมาใหม่ ดังคำชี้แจงของ วินัย เวนเกตชาม ซีอีโอของสโมสร ได้สื่อสารออกมาหลังตลาดซัมเมอร์ปิดตัวลง

วินัยกล่าวว่า: “แนวทางของเราในตลาดรอบนี้ ถูกกำหนดกรอบโดยเราตระหนักดีว่า เราไม่ได้อยู่ในจุดที่เราต้องการ เราจบอันดับ 8 เราไม่ได้ไปเล่นฟุตบอลยุโรปครั้งแรกในรอบหลายปี นี่ต่ำกว่ามาตรฐานของเรา และแน่นอนว่าแฟนบอลต้องการให้ทีมกลับมาเป็นทีมที่สู้เพื่อเป็นแชมป์ที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง”

“ในขณะที่เราอยากจะกระโดดไปยังจุดที่เราต้องการไปอยู่ในทันที แต่เราก็ต้องยอมรับความจริงว่าช่องว่างนั้นใหญ่เกินไปที่จะทำแบบนั้นได้ ดัวยเหตุนี้ การเสริมทัพของเราในช่วงซัมเมอร์นี้จึงเน้นไปที่นักเตะที่อายุน้อยเป็นหลัก”

“กลยุทธ์ของเราคือการเติมเต็มทีมด้วยผู้เล่นดาวรุ่งอนาคตไกล รวมกับผู้เล่นที่เราสร้างขึ้นมาผ่านระบบอะคาเดมี่ของสโมสร ที่สามารถเติบโต และพัฒนาร่วมกันภายใต้การดูแลของ มิเกล อาร์เตต้า เพื่อพาเราไปในที่ที่เราต้องการ แม้ว่าสิ่งนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่เราสามารถสร้างความหน้าในเชิงบวก และทำให้เรามีเส้นทางที่ดี ในการไปสู่ความสำเร็จในอนาคตแบบยั่งยืน”

นี่ดูเหมือนสโมสรจะเรียนรู้กับความผิดพลาดจากเมือปีที่แล้ว พวกเขายื่นสัญญายาว 3 ปีให้กับ วิลเลี่ยน และโอบาเมยอง ที่ทั้งคู่อายุ 30 ปี ซึ่งจนถึงตอนนี้ ทั้งสองดีลไม่ได้ก่อให้เกิดความคุ้มค่ากับเงินที่พวกเขาลงทุนไป และวิลเลี่ยนก็ได้ยกเลิกสัญญาที่เหลืออยู่สองปีกับทีม และย้ายกลับไปเล่นกับโครินเธียร์ส

มีความจำเป็นหลายอย่างที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนกลยุทธ์ของอาร์เซน่อล อันดับแรกพวกเขาต้องการปรับสมดุลอายุผู้เล่นในทีม อย่างไรก็ตามเรื่องเงินก็เป็นแรงจูงใจด้วยเช่นกัน อาร์เซน่อลใช้เงินไปมากกว่า 150 ล้านปอนด์ในตลาดรอบนี้ แม้ว่าเจ้าของทีมจะจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนทีม แต่ข้อตกลงส่วนใหญ่จะมีการใช้เงื่อนไข Add ons และโครงสร้างในการผ่อนชำระเงิน

เมื่อปี 2019 จอร์จ โครเอนเก้ บอกว่าอาร์เซน่อลมีค่าเหนื่อยผู้เล่นในระดับแชมเปี้ยนลีก โดยมีงบประมาณระดับยูโรป้าลีก: ด้วยเหตุผลนั้น อาร์เซน่อลไม่สามารถจ่ายค่าเหนื่อยนักเตะที่ฟุ่มเฟือย แบบที่พวกเขาเคยให้ค่าเหนื่อย เมซุต โอซิล 350,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ รวมถึงพวกเขาตระหนักถึงกฏระเบียบเกี่ยวกับ Financial Fair play ด้วย

ผู้เล่นที่เข้ามาใหม่ ได้รับค่าเหนื่อยที่สมเหตุสมผล ยกตัวอย่างแม้ว่า เบน ไวท์ จะมีค่าตัวที่สูงกว่า ราฟาเอล วาราน แต่เป็นที่เข้าใจว่า ไวท์ มีค่าเหนื่อยที่น้อยกว่าวาราน 3 เท่า ไวท์รับค่าเหนื่อย 80,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ขณะที่วาราน รับค่าเหนื่อย 300,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์

นั่นหมายความว่าอีกสี่ปีข้างหน้า รวมกับค่าตัวที่จ่ายให้กับเรอัล มาดริด 40 ล้านปอนด์ วารานจะทำให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดรวมมากกว่า 100 ล้านปอนด์ และเวลานั้นวารานอายุ 32 ปี ซึ่งไม่มีทางที่แมนยูจะขายนักเตะในราคาที่ดีได้อีกแล้ว

ขณะที่อาร์เซน่อล กับไวท์ พวกเขาจะจ่ายเงิน 67 ล้านปอนด์ และอีกสี่ปี ไวท์จะอายุ 27 ปี พวกเขายังสามารถที่จะขายไวท์ในราคาที่ดีได้อีก

อาร์เซน่อล ยอมรับว่าพวกเขาจ่ายเงินในระดับพรีเมี่ยมเพื่อแลกกับ ไวท์ และแอรอน แรมส์เดล ในช่วงซัมเมอร์นี้ อย่างไรก็ตามการที่พวกเขามีโควต้า Homegrown ติดตัว เป็นเงื่อนไขในการปกป้องมูลค่าของนักเตะได้เป็นอย่างดีในอนาคต

อาร์เซน่อลเชื่อว่า พวกเขาไม่ได้เซ็นเด็กไร้ประสบการณ์เข้ามา นักเตะ 6 คนที่พวกเขาดึงเข้ามาล้วนผ่านประสบการณ์มาระดับนึงแล้ว มาร์ติน โอเดการ์ด เป็นกัปตันทีมชาตินอร์เวย์, อัลเบิร์ต แซมบี้ โลกองก้า เป็นกัปตันทีมอันเดอร์เลทซ์, ทาเคฮิโร่ โทมิยาสุ ผ่านการติดทีมชาติญี่ปุ่นมา 23 นัด แม้กระทั่ง นูโน ตาวาเรซ วัย 20 ปี ก็ลงเล่นในระดับลีกสูงสุดของโปรตุเกซมาแล้ว 35 นัด และไม่มีผู้รักษาประตูอายุต่ำกว่า 23 ปีคนไหนที่ลงเล่นในระดับลีกสูงสุดมากเท่า แรมส์เดล ซึ่งอาร์เซน่อลคาดหวังว่าทั้งหมดจะสร้างอิมแพ็คให้กับทีมในเวลาอันรวดเร็ว

กลยุทธ์ดังกล่าวไม่ได้ถูกแบบโดย อาร์เตต้า มันเป็นกลยุทธ์ในระดับทีมบริหาร จากการหารือร่วมกันระหว่าง ผู้อำนวยการเทคนิค, บอร์ดบริหาร และเจ้าของสโมสร แน่นอนว่าผู้จัดการทีมก็มีสิทธิ์มีเสียงในการหารือ แต่มันไม่ใช่แผนการณ์ของคนๆ เดียว นี่คือการตัดสินใจในระดับของสโมสร

กระบวนการในการคัดสรรนักเตะเข้าทีม

รายชื่อนักเตะเป้าหมายที่อาร์เซน่อลต้องการดึงเข้ามาเสริมทัพในซัมเมอร์นี้ ถูกจัดเตรียมไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2021 ระยะเวลาต่อมาอาจจะมีการดึงชื่อเข้าออก แต่นั่นคือพิมพ์เขียวของกลยุทธ์ของพวกเขา

การที่สโมสรเลื่อนตำแหน่งของ อาร์เตต้า จากเฮดโค้ช มาเป็นผู้จัดการทีม ทำให้เกิดความสับสนว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจกันแน่ แล้วแท้จริงมันมีลำดับการทำงานกันอย่างไร

แรกสุด อาร์เตต้า และเอดู ผู้อำนวยการเทคนิค จะเป็นผู้ร่างความต้องการออกมา จากนั้นทีมงานแมวมอง จะลิสต์รายชื่อเป้าหมายที่เป็นไปได้ แม้ว่าในช่วงปี 2020 อาร์เซน่อลจะมีการไล่แมวมองชุดใหญ่ออกจากสโมสร แต่พวกเขาก็ยังเหลือทีมบ้างคนเอาไว้ เช่น Jason Ayto ผู้ประสานงานในการคัดสรรผู้เล่น, มาร์ค เคอร์ติส แมวมองทีมชุดใหญ่ และทอลลี่ โคเบิร์น รับผิดชอบเรื่องกลยุทธ์ และแอปพลิเคชันด้านการวิเคราะห์ ซึ่งพวกเขาเรียกทีมงานชุดนี้ว่า “หน่วยข่าวกรองด้านฟุตบอล”

แนวความคิดคือการรวมแผนกต่างๆ ที่เคยแยกการทำงานออกจากกันก่อนหน้านี้ เข้าไว้ด้วยกัน และรายงานโดยตรงไปยังเอดู ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการวางแผนสร้างทีม, การประเมินจากแมวมอง, การพัฒนานักเตะดาวรุ่งและการยืมตัว ซึ่งทางอาร์เซนอล ก็ได้มีการดึงแมวมองชุดใหญ่เข้ามาเพิ่ม โดยทางเอดู กับ Ayto ได้มีการสัมภาษณ์แมวมองที่มีประสบการณ์สูง อาทิ เจมส์ เอลลิส อดีตแมวมองอาวุโสของฟูแล่ม และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, โรเมนท์ พอตร็อตต์ อดีตแมวมองของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และโทนี่ ลิม่า อดีตแมวมองจากอินเตอร์ มิลาน

ขณะที่ก่อนหน้านี้มีความตึงเครียดระหว่าง แผนกแมวมองดั้งเดิม กับการใช้งานระบบ StatDNA หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Arsenal Data Analysis ซึ่งสมาชิกในทีมหน่วยข่าวกรองด้านฟุตบอลของอาร์เซน่อล เคยเป็นอดีตนักวิเคราะห์มาก่อน ดังนั้นพวกเขาคุ้นเคยดีกับการใช้ทั้งวีดีโอ และข้อมูลในการประเมินนักเตะ และสร้างรายงานออกมา พวกเขาต้องการเห็นข้อมูล สามารถรวมเข้ากับกระบวนการได้ เพื่อเป็นส่วนเสริม มากกว่าที่จะสร้างความขัดแย้ง

อาร์เตต้า และทีมงานสต๊าฟโค้ชของเขา มีสิทธิ์มีเสียงภายในกระบวนการคัดสรรนักเตะ พวกเขายังมีส่วนช่วยในการพูดคุยกับอดีตผู้ฝึกสอนของนักเตะ เพื่อศึกษาภูมิหลัง และอุปนิสัยส่วนตัวของนักเตะ นั่นก็เป็นเรื่องสำคัญพิเศษสำหรับอาร์เตต้า ที่เขาต้องการนักเตะที่มีบุคลิกและอุปนิสัยที่เหมาะสมกับโปรเจ็คที่เขาต้องการสร้าง

เมื่อรายชื่อเป้าหมายเสร็จสิ้น อาร์เตต้าและเอดู จะเป็นคนตัดสินใจว่าจะดำเนินอย่างไร ในกรณีของมาร์ติน โอเดการ์ด เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ทุกคนเชื่อมั่นในคุณภาพของนักเตะ และคาแรกเตอร์ของตัวเองนักเตะ

ส่วนในการดึง โลกองก้า และนูโน ตาวาเรซ ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากทีมงานแมวมองของเอดู ซึ่งทางอาร์เตต้าก็ให้เครดิตกับทีมงานในการเฟ้นหานักเตะที่ตรงกับความต้องการเข้ามาได้ ขณะที่การเซ็นสัญญากับ ไวท์ และโทมิยาสุ ได้รับการอนุมัติจากทุกแผนก แต่อาร์เตต้า เป็นคนโน้มน้าวระดับบริหารเพื่อให้ทั้งสองดีลได้รับการอนุมัติ

อีกหนึ่งดีลที่น่าสนใจ กรณีของ แอรอน แรมส์เดล ทางเอดู และทีมงาน สนับสนุนให้เลือกเซ็นผู้รักษาประตูที่ค่าตัวถูกกว่า ซึ่งรวมถึง เนโต้ ของบาร์เซโลน่า แต่ในท้ายที่สุดเมื่อทาง เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ตอบสนองข้อเสนอ และอาร์เตต้า โน้มน้าวทุกฝ่ายว่าต้องเลือกแรมส์เดล ทำให้ข้อตกลงเกิดขึ้นในที่สุด ด้วยอำนาจหน้าที่ มันมักจะพร้อมกับความรับผิดชอบ อาร์เตต้า ตระหนักดีในฐานะผู้จัดการทีม เขาจะต้องถูกตัดสินจากคุณภาพนักเตะที่เขาเป็นคนเลือกเข้ามาสู่ทีม

การเจรจา

ความแตกต่างที่สำคัญของอาร์เซน่อล เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว คือการที่พวกเขาเพิ่ม ริชาร์ค การ์ลิค อดีตผู้อำนวยการฟุตบอลของพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่เข้ามาเริ่มงานเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และเขาแทบจะถูกโยนเข้าสู่วงเจรจาทันที กับการเจรจาในการคว้า เบน ไวท์, โลกองก้า และแรมส์เดล

ในขั้นต้น การ์ลิค เป็นผู้นำในการทำข้อตกลงในดีลทั้งหมดเล่านั้น ในกรณ๊ของไวท์ และแรมส์เดล ซึ่งมีเหตุผลที่ชัดเจน ด้วยการที่เขาเคยทำงานกับพรีเมียร์ลีก ทำให้เขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับหลายสโมสรในพรีเมียร์ลีก อีกทั้งเขายังเคยร่วมงานกับ แดน อันเวิร์ธ ผู้อำนวยการเทคนิคของไบรท์ตัน สมัยที่ทั้งคู่อยู่ที่เวสต์บรอมวิช

อาร์เซน่อล และการ์ลิค ต้องการปิดดีลให้เรียบร้อยตั้งแต่เนิ่นๆ อย่างไรก็ตามมันไม่ง่ายเลย ที่จะเคลื่อนไหวด้วยความรวดเร็ว เนื่องจากอาร์เซน่อลต้องการใช้จ่ายด้วยความรอบคอบ และการที่การ์ลิค เพิ่งเข้ามารับงาน ทำให้ข้อเสนอของเขาจะต้องผ่านการอนุมัติจากบอร์ดบริหารก่อน แตกต่างจากยุคของ อาร์แซน เวนเกอร์ และอีวาน กลาซิดิช ที่พวกเขาได้รับอภิสิทธิ์พิเศษในการเจรจา

ในซัมเมอร์นี้ บอร์ดบริหารติดตามทุกๆ ขั้นตอนในการซื้อนักเตะ มีการประชุมติดตามความคืบหน้า 1 ถึง 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อาร์เตต้า เข้ามาร่วมประชุม และแสดงความคิดเห็นต่อบอร์ดบริหาร ในช่วงท้ายตลาด จอร์จ โครเอนเก้ ได้เดินทางมาที่ลอนดอน และปรากฏตัวในวันที่เซ็นสัญญากับ โอเดการ์ด และแรมส์เดล

ท้ายที่สุดอาร์เซน่อล ต้องยื่นข้อเสนอถึง 5 รอบในการปิดดีลคว้า เบน ไวท์ ขณะที่การเจรจาคว้าแรมส์เดล มีความยืดเยื้อกว่าปกติเนื่องจากทางเจ้าของทีมเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ได้มีการแต่งตั้งคนกลางเข้ามาจัดการ กว่าที่พวกเขาจะได้คุยกับคนที่มีอำนาจตัดสินใจ ก็เป็นช่วงที่ใกล้ๆ ที่จะปิดดีลแล้ว ในกรณีของ ไวท์ และแรมส์เดล อาร์เซน่อลต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากในการหาความสมดุลระหว่างความต้องการที่จะปิดดีลให้ได้รวดเร็ว กับกระบวนการภายใน

เอดู ก็มีส่วนร่วมในการเจรจาเช่นเดียวกัน เมื่อการเจรจากับอันเดอร์เลทซ์เกี่ยวกับ โลกองก้า มาถึงจุดวิกฤต ทางเอดูได้ก้าวเข้ามา เขายังเป็นผู้นำในการเจรจาคว้า นูโน ตาวาเรซ และยังมีส่วนร่วมอย่างมากในวันเดดไลน์ในการคว้า โทมิยาสุ

เอดู ยังมีการประสางานกับบาร์เซโลน่า ถึงความเป็นไปได้ในการแลกตัว เอคตอร์ เบเยริน กับผู้เล่นบาร์เซโลน่า และเป็นหัวหอกสำคัญต่อความสนใจของอาร์เซน่อลต่อ เลาตาโร่ มาร์ติเนซ กองหน้าของอินเตอร์ มิลาน รวมถึงได้มีการคุยถึงความเป็นไปได้ในการคว้าตัว จูลด์ กูลเด้ ของเซบีญ่า อาร์เซน่อลพึ่งพาการติดต่อ และทักษะในการสื่อสารในภาษาที่แตกต่างของทั้งเอดู และการ์ลิค

เมื่อค่าตัวของนักเตะสามารถตกลงกันได้แล้ว ก็จะเป็นหน้าที่ของอาร์เตต้า ได้การติดต่อไปยังตัวนักเตะ พูดคุยเกี่ยวกับแผนของเขา และโน้มน้าวนักเตะในการย้ายมาเล่นกับอาร์เซน่อล บางครั้งเขาได้มีการติดต่อกับนักเตะอยู่หลายครั้ง เพื่ออธิบายเกี่ยวกับว่านักเตะจะเข้ากับแท็กติกเข้าได้อย่างไร

ดีลในการเซ็นสัญญา โอเดการ์ด เป็นหนึ่ลดีลที่อาร์เซน่อลพร้อมที่จะรอ ความตั้งใจแรกของนักเตะคือการอยู่กับเรอัล มาดริดต่อไป แต่เมื่อกำลังจะเริ่มฤดูกาล ความตั้งใจของมาดริดชัดเจนเรื่อยๆ ว่าพวกเขาต้องการขายนักเตะบางคนออกจากทีม เพื่อระดมเงินซื้อ เอ็มบัปเป้ ท้ายที่สุดมาดริดตัดสินใจขาย โอเดการ์ด ออกจากทีม เขามีความสุขที่ได้กลับมาเล่นให้อาร์เซน่อลอีกครั้ง ซึ่งในดีลนี้มี เคีย ซูรับเซียน ทำหน้าที่เป็นโบรกเกอร์ในการเจรจา

เมื่อพูดถึงแบ็คขวา อาร์เซน่อลพยายามที่จะหาผู้เล่นที่ตรงสเป็ก และราคาสมเหตุสมผล โทมิยาสุ เป็นคนที่พวกเขาให้ความสนใจตั้งแต่ช่วงต้นของตลาด และกลับมาจริงจังในช่วง 72 ชั่วโมงสุดท้าย อาร์เซน่อลหวังที่จะเพิ่มแบ็คขวา หลังจากออกสตาร์ทฤดูกาลได้ย่ำแย่ ความต้องการผู้เล่นแบ็คขวาคนใหม่ ยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้นไปอีก

ปัญหาในการขายนักเตะ

เมื่ออาร์เตต้า และเอดู เป็นคนตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของนักเตะ ทางเอดู และริชาร์ด การ์ลิค จะเป็นผู้จัดการในการปล่อยนักเตะออกจากทีม นี่คือจุดที่อาร์เซน่อลประสบปัญหาในการดำเนินตามกลยุทธ์ โดยพวกเขาหวังว่าเงินที่พวกเขาใช้ในการซื้อนักเตะ จะถูกชดเชยจากเงินที่ได้จากการขายนักเตะออกไป

พูดแบบแฟร์ๆ ตลาดรอบนี้เป็นเรื่องยากในการปล่อยนักเตะ เนื่องจากสโมสรจากหลายลีกต่างประสบปัญหาทางด้านการเงินทั้งสิ้น แต่จากข้อมูลก็มี 10 สโมสรในพรีเมียร์ลีก ที่สามารถทำรายได้จากการขายนักเตะได้มากกว่าอาร์เซน่อล

ในบางกรณี สถานการณ์ไม่ได้ช่วย กับการขายนักเตะที่ไม่มีสโมสรไหนต้องการซื้อ แต่ก็ยังมีกรณีอื่นๆ ที่อาร์เซน่อลไม่สามารถใช้ประโยชน์จากความสนใจของสโมสรอื่นได้ อาร์เซน่อลได้รับข้อเสนอซื้อ กรานิต ชาก้า และเอ็ดดี้ เอ็นเคเทียร์ แต่ไม่สามารถขายนักเตะออกไปได้

กรณีของชาก้า เอดูและอาร์เตต้า พิจารณาข้อเสนอจากโรม่า ว่ามันไม่เพียงพอสำหรับการที่จะปล่อยนักเตะตัวหลักออกจากทีม ท้ายที่สุดสโมสรเลือกที่จะต่อสัญญากับชาก้าไปจนถึงปี 2024

อาร์เซน่อล ได้มีการยื่นสัญญาฉบับใหม่ให้กับเอ็นเคเทียร์ ที่เหลือสัญญาอีกปีเดียวกับทีม แต่นักเตะไม่ได้ให้ความสนใจกับสัญญาใหม่ เนื่องจากเขามองไม่เห็นอนาคตของตัวเองกับทีม ซึ่งน่าแปลกใจที่อาร์เซน่อลไม่เปิดกว้างในการรับฟังข้อเสนอของ คริสตัล พาเลซ

พวกเขาทำเงินได้เพียงแค่การขาย โจ วิลล็อค ออกไปให้กับนิวคาสเซิ่ล 22 ล้านปอนด์ กับมัตเตโอ เกนดูซี่ ที่ไปเล่นกับมาร์กเซยแบบยืมตัว พ่วงออปชันบังคับซื้อขาด 9 ล้านปอนด์ในซัมเมอร์หน้า

บางกรณีนี้อาร์เซน่อล ก็เหมือนได้วางเดิมพันว่าตลาดในอีกหนึ่งปีข้างหน้า ตลาดนักเตะจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และพวกเขาจะทำเงินได้มากกว่าที่จะปล่อยนักเตะออกไปตอนนี้ อย่างเช่น เอนสลี่ย์ เมตแลนด์-ไนล์ส ที่ต้องการย้ายออก แต่สโมสรปฏิเสธข้อเสนอยืมตัวจากเอฟเวอร์ตันไป

บทสรุปอาร์เซน่อลในตลาดซัมเมอร์นี้

เจ้าของสโมสรอาร์เซน่อล สมควรได้รับเครดิตบางอย่างในการเสริมทัพรอบนี้ แม้ว่าพวกเขาจะล้มเหลวในการทำเงินจากการขายนักเตะ แต่สโมสรก็ยังดำเนินตามแผนกลยุทธ์ และได้ผู้เล่นอย่างที่พวกเขาต้องการ ในแง่นั้นอาร์เตต้า ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากสโมสร

อาร์เซน่อลได้นักเตะใหม่เข้ามาเสริม 6 คน แต่การที่พวกเขาไม่สามารถขาย กรานิต ชาก้า และอเลซองเดร์ ลากาแซตต์ ออกได้ ก็กระทบกับแผนที่จะซื้อ กองกลาง และกองหน้า ซึ่งเป็นสองตำแหน่งที่พวกเขาก็ต้องการที่จะเสริมแกร่ง

อย่างไรก็ตามการที่พวกเขาเซ็นผู้เล่นในช่วงอายุแบบนั้น ก็อาจจะต้องใช้เวลาเล็กน้อยในการที่พวกเขาจะสร้างอิมแพ็คให้เกิดขึ้นกับทีม

• เรื่องน่าสนใจ •